สารจากคณบดี

คณะการจัดการการท่องเที่ยว สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์


การท่องเที่ยวเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญสำหรับประเทศไทย ส่งผลให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นการจ้างงาน สร้างรายได้ กระตุ้นให้เกิดการลงทุน พัฒนาคุณภาพชีวิต จะเห็นได้ว่ากว่าห้าสิบปีในการพัฒนาการท่องเที่ยวของประเทศ อัตราการเจริญเติบโตของการท่องเที่ยวเป็นไปอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะในมิติของการขยายตัวของจำนวนนักท่องเที่ยว ซึ่งส่งผลให้เกิดความไม่สมดุลระหว่างมิติการพัฒนากับการอนุรักษ์ ดังจะเห็นได้จากสิ่งแวดล้อมที่ได้รับผลกระทบ การรุกล้ำพื้นที่ธรรมชาติ การกระจุกตัวของรายได้ ปัญหาสังคมต่าง ๆ เป็นต้น

การท่องเที่ยวเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญสำหรับประเทศไทย ส่งผลให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นการจ้างงาน สร้างรายได้ กระตุ้นให้เกิดการลงทุน พัฒนอกจากนั้นอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวยังมีความเป็นพลวัต มีหลากหลายปัจจัยที่ส่งผลต่อการท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมนักท่องเที่ยวที่เปลี่ยนแปลง ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี สภาพเศรษฐกิจโลกที่ผันผวน การแข่งขันทางการท่องเที่ยวที่รุนแรง โรคภัยไข้เจ็บ หรือแม้กระทั่งภัยธรรมชาติ ปัจจัยเหล่านี้เป็นความท้าทายต่อการจัดการการท่องเที่ยวของประเทศไทยแทบทั้งสิ้น

การที่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมีความสำคัญต่อประเทศดังที่ได้กล่าวมาข้างต้น คณะการจัดการการท่องเที่ยว สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ จึงได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อ ปี พ.ศ. 2553 โดยดำริของสภาสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ โดยตั้งเป็นศูนย์ศึกษาการจัดการการท่องเที่ยวแบบูรณาการ และเปิดการเรียนการสอนในระดับปริญญาโทและปริญญาเอก โดยผู้ที่มีส่วนสำคัญในการก่อตั้ง ประกอบด้วย ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ณ ขณะนั้น ศาสตราจารย์ ดร.สุวิมล ว่องวาณิช อาจารย์ภราเดช พยัฆวิเชียร และศาสตราจารย์ ดร.เทิดชาย ช่วยบำรุง ต่อมาได้ยกระดับเป็นคณะการจัดการการท่องเที่ยว โดยมีศาสตราจารย์ ดร.เทิดชาย ช่วยบำรุง เป็นผู้อำนวยการศูนย์ฯ และคณบดีท่านแรก โดยมีพันธกิจหลักในการพัฒนาคนเพื่อเป็นกลไกที่สำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวสู่ความยั่งยืนตามพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งเป็นองค์พระผู้ก่อตั้งสถาบันฯ

แม้คณะการจัดการการท่องเที่ยวจะมีอายุเพียงแค่ 10 ปี แต่ที่ผ่านมาได้ผลิตคนที่มีคุณภาพและคุณธรรมเข้าสู่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเป็นจำนวนมากทั้งในหน่วยงานภาครัฐ เอกชน รวมถึงภาคการศึกษา บัณฑิตที่จบออกไปได้กลายเป็นต้นกล้าพันธุ์ดีและงอกเงยอย่างงดงามเหลืองอร่ามอยู่ทั่วประเทศไทยและนั่นคือความภาคภูมิใจของคณะการจัดการการท่องเที่ยวอย่างสูงสุด เพราะในที่สุดบัณฑิตเหล่านั้นได้เป็นผู้ขับเคลื่อนให้พันธกิจของคณะฯ บรรลุตามที่ตั้งไว้และตอบโจทย์ความต้องการของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในที่สุด และสุดท้ายประโยชน์สูงสุดคือการท่องเที่ยวของประเทศไทยเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ปัจจัยแห่งความสำเร็จที่ทำให้คณะฯ สามารถดำเนินกิจการจนก้าวหน้ามาถึงปัจจุบัน คือ คณาจารย์ของคณะฯ ที่มีความรู้และประสบการณ์ที่หลากหลายและตอบโจทย์หลักสูตรที่เน้นศาสตร์บูรณาการที่สามารนำไปประยุกต์ใช้ในการทำงานได้จริง โดยคณาจารย์ทุกคนจบการศึกษาในระดับปริญญาเอกและมีตำแหน่งทางวิชาการซึ่งมากที่สุดในประเทศไทย นอกจากนั้นแล้วคณะฯ ยังมีเครือข่ายกับหน่วยงานภายนอกในระดับท้องถิ่น ระดับชาติ รวมไปถึงระดับนานาชาติ และมีการผลิตงานวิจัยอย่างต่อเนื่องในอันจะนำไปใช้ในการพัฒนาการท่องเที่ยวรวมถึงสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการเรียนการสอนได้ นอกจากนั้นแล้วคณะฯ ยังได้ลงนามความร่วมมือกับหน่วยงานหลากหลายทั้งภาครัฐ เอกชน ทั้งในระดับชาติและนานาชาติ ซึ่งเป็นเครือข่ายในการส่งเสริมกระบวนการการเรียนการสอนและการบริการวิชาการของคณะฯ อย่างมีประสิทธิภาพ โดยคณะฯ ได้เข้าไปมีบทบาทในการขับเคลื่อนเชิงนโยบายในระดับชาติเป็นจำนวนมาก เหล่านั้นเป็นการสะท้อนบทบาทของคณะฯ ที่ไม่ใช่แค่เป็นหน่วยงานที่ผลิตบัณฑิตเพียงอย่างเดียว แต่ยังเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวในระดับชาติในหลากหลายมิติเช่นกัน

อีกประการหนึ่งที่สะท้อนคุณภาพในการจัดการการเรียนการสอนคือ หลักสูตรทั้งในระดับปริญญาโทและปริญญาเอกของคณะฯ ได้รับการรับรองมาตรฐานหลักสูตรจากองค์การการท่องเที่ยวโลกแห่งสหประชาชาติ (UNWTO) ที่เรียกว่า TedQual เป็นที่แรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และในประเทศไทย ซึ่งถือเป็นความภาคภูมิใจของทุกคนในคณะฯ ไม่ว่าจะเป็นคณาจารย์ ศิษย์เก่า ศิษย์ปัจจุบัน รวมถึงเจ้าหน้าที่ ในการร่วมแรงร่วมใจทำให้คณะฯ ที่มีอายุน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับที่อื่นๆ ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานหลักสูตร และขณะนี้คณะฯ กำลังอยู่ในกระบวนการขอประเมินหลักสูตรจาก The ICE ประเทศออสเตรเลีย เพื่อเป็นการยืนยันว่าหลักสูตรของคณะฯ มีคุณภาพไม่ใช่เพียงในระดับชาติแต่ยังเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ

ในปัจจุบันสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวโดยเฉพาะผู้ประกอบการและแรงงานในภาคธุรกิจการท่องเที่ยว คณะฯ ได้เข้าไปมีบทบาทในการช่วยเหลือไม่ว่าจะเป็นมิติเชิงนโยบายทั้งในระดับพื้นที่หรือระดับชาติ การพัฒนาองค์ความรู้ให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบ เช่น โครงการอบรม Smart Tourism การจ้างงานผ่านโครงการต่างๆ ของรัฐบาลเพื่อช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 อีกทั้งมีการจัดสรรทุนการศึกษาให้กับผู้สนใจเข้าศึกษาต่อเป็นจำนวนมาก คณะฯ เชื่อมั่นว่าอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวต่อจากนี้ไปจะมีความท้าทายมากยิ่งขึ้น องค์ความรู้จึงมีความสำคัญในการนำไปประยุกต์ใช้ในการปรับเปลี่ยนให้ทันกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงและตอบโจทย์ความสามารถทางการแข่งขันทางการท่องเที่ยวของประเทศไทย คณะการจัดการการท่องเที่ยวจะเป็นหนึ่งในหน่วยงานหลักที่เป็นผู้นำในการสร้างสรรค์องค์ความรู้ใหม่ๆ ส่งมอบองค์ความรู้ บริการวิชาการ เพื่อให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศไทยมีความสามารถทางการแข่งขันอย่างยั่งยืน


ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ไพฑูรย์ มนต์พานทอง
คณบดีคณะการจัดการการท่องเที่ยว
สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

สนใจสมัครเข้าศึกษาต่อ